วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ยาเสพติดให้โทษ


สิ่งเสพติด  คือ  ยาประเภทหนึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้ผู้ได้รับมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย  โดยจะเข้าสู่ร่างกายโดยการ  กิน  สูบ  ฉีด  หรือดม  ผลของสิ่งเสพติดต่อการทำงานของระบบต่างๆ  ของร่างกายของผู้เสพจะเกิดโทษต่างๆ  เช่น 
            1.  บุหรี่  ในบุหรี่มีสารนิโคติน  ซึ่งจะระเหยออกมาพร้อมกับควันบุหรี่  สารนิโคติน  จะเป็นอันตรายต่อหัวใจ  ระบบประสาท  อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ  เป็นต้น
              2.  น้ำชา  กาแฟ  จะมีสารคาเฟอีน  ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท  ทำให้รู้สึกสดชื่นหายง่วง
              3.  สุรา  เครื่องดื่มทุกชนิด  ที่ดื่มแล้วทำให้มันเมา  ในสุรามีแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย  เมื่อแอลกอฮอล์เข้าไปในกระแสเลือด  เลือดก็จะนำไปยังส่วนต่างๆ  ของร่างกาย  ถ้าเราดื่มมากๆ  อาจจะทำให้เป็นโรคตับแข็ง  และยังเป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหาร  ลำไส้  ปอด  เป็นต้น 
            4.  ยาบ้า  หรือ  แอมเฟตามีน  มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทและสมอง  ทำให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา  เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะทำให้มึนงง  นอนไม่หลับ  ตกใจง่าย  อ่อนล้า คลุ้มคลั่ง  ประสาท  หลอน  คลื่นไส้  อาเจียน  อาจถึงขั้นหลอดเลือดในสมองแตกและหัวใจวาย
              5.  สารระเหย  เป็นสารเคมีที่ระเหยง่าย  ในอุณหภูมิปกติจะพบในรูปของตัวทำละลาย  เช่น ทินเนอร์  น้ำยาล้างเล็บ  กาว  เป็นต้น  เมื่อร่างกายรับสารระเหยเข้าไปในระยะแรก  จะเกิดอาการตื่นเต้น  ร่าเริงต่อมาจะมีอาการมึนงง  ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้  จะง่วงซึมและหมดสติในที่สุด
               6.  กัญชา  เป็นพืชล้มลุก  ในใบ  ดอก  ลำต้นกัญชาจะมีสารเสพติดที่เป็นน้ำมัน  เมื่อรับเข้าสู่ร่างกาย  จะทำให้กล้ามเนื้อสั่น  กระตุก  ปวดร้าว  สมองมึนงง  ความคิดสับสน  กระหายน้ำ  หวาดผวา  เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อของร่างกาย 
              7.  ฝิ่น  ได้จากเปลือกผลดิบมีลักษณะเป็นยาง  เรียกว่า  ฝิ่นดิบ  นำมาเคี่ยวให้สุกมีสีดำ  รสชาติขม  ฝิ่นมีฤทธิ์กดประสาท  ทำให้จิตใจเสื่อมโทรม
              8.  มอร์ฟีน  มีลักษณะเป็นผงสีขาว  หรือเหลืองอ่อน  ละลายน้ำง่ายไม่มีกลิ่น  เป็นสารสกัดที่ได้จากฝิ่น  แต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่า  8  -  10  เท่ามีฤทธิ์กดประสาทและสมองทำให้ศูนย์ประสาทรับความรู้สึกชา  สามารถนำมาใช้วงการแพทย์ใช้สำหรับระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย
            9.  เฮโรอีน  สกัดจากมอร์ฟีน  แต่มีฤทธิ์ร้ายแรงกว่า  10  เท่า  เป็นสิ่งเสพติดที่ติดได้ง่าย  เสพเพียง  1  -  2  ครั้งก็สามารถติดได้  เฮโรอีนสามารถแบ่งได้  2  ชนิด  คือ
                        -   เฮโรอีนบริสุทธิ์  หรือผงขาว  มีลักษณะเป็นผงสีขาวไม่มีกลิ่น  รสชาติขมจัด
                        -  เฮโรอีนไม่บริสุทธิ์  หรือเฮโรอีนผสม  หรือ  ไอระเหย  มีสีต่างๆ  เช่น  ชมพู  สีม่วง  มีลักษณะเป็นเกล็ด  เสพเข้าร่างกายโดยวิธีการสูบไอระเหย  เข้าไปตามระบบทางเดินลมหายใจ
              ผลเสีย  ของสารเสพติด  สามารถสรุปได้ดังนี้
              1.  ต่อตัวเอง  ร่างกายทรุดโทรม  ทำให้เกิดโรค  สมองเสื่อม  เสียบุคลิกภาพ
               2.  ต่อสังคมและประเทศชาติ  เพราะประเทศต้องเลี้ยงดู  รักษา  ผู้ที่ติดสารเสพติดเป็นจำนวนมาก  เป็นภาระต่อสังคม  ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม  ทำให้สูญเสียแรงงานของชาติ  สูญเสียงบประมาณของประเทศ
            3.  ต่อครอบครัว  ทำให้สิ้นเปลือง  ขาดความรับผิดชอบ  ทำให้เสียชื่อเสียง  เป็นภาระของผู้อื่น  บางรายหลังจากที่มีการเสพเข้าไปแล้ว  จะมีการทำร้ายบุคคลในครอบครัว  หรือบางรายไมมีเงินซื้อสิ่งเหล่านี้มาเสพจะเกิดการลักขโมย  ทำร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่จะนำไปซื้อยาเสพติด
            สาเหตุ  ของการติดสิ่งเสพติด
            1.  อยากลอง  อยากรู้  อยากสัมผัส
            2.  ถูกชักชวน  ถูกหลอกลวง  ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
            3.  สาเหตุมาจากครอบครัว  ขาดความรัก  ความอบอุ่นจากครอบครัว
            4.  จากสื่อต่างๆ  เช่น  โทรทัศน์   ภาพยนตร์ทำให้เด็กประพฤติตาม
            ลักษณะ  ของผู้ติดยา
            1.  สุขภาพทรุดโทรม  ผอม  ซูบซีด  เจ็บป่วยง่าย  ตาแดง  ตาโรย  น้ำมูลไหล  น้ำตาไหล 
            2.  มีร่องรอยการเสพยาตามร่างกาย  นิ้วมือมีคราบเหลืองมีรอยการเสพยาด้วยเข็ม
            3.  ผิวหนังหยาบกร้าน  เป็นแผลพุพอง  เป็นหนอง  น้ำเหลืองคล้ายคนเป็นโรคผิวหนัง
            พฤติกรรม ของผู้ติดสิ่งเสพติด
            1.  ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม  ชอบแยกตัวเอง
            2.  แต่งกายไม่เรียบร้อย  สกปรก
            3.  สีหน้าแสดงความวิตก  ซึมเศร้า  ไม่กล้าที่จะสู้หน้าคน
            4.  เมื่อขาดยา  มีอาการกระวนกระวาย  หายใจลึก  กล้ามเนื้อกระตุก  ทุรนทุราย คลุ้มคลั่ง
            การป้องกัน  การเสพยาเสพติด
            1.  เลือกคบเพื่อนที่ดี  หลีกเลี่ยงการคบเพื่อนที่ติดสิ่งเสพติด
            2.  ไม่ทดลอง  สิ่งเสพติดทุกชนิด
            3.  เล่นกีฬา  ออกกำลังกาย  หากิจกรรมนันทนาการเล่นเมื่อมีเวลาว่าง
            4.  สถาบันการศึกษาควรให้การอบรมเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด
            5.  ควรมีความอบอุ่นแก่ครอบครัว  ดูแลสมาชิกในครอบครัว  อย่างใกล้ชิด
            6.  เมื่อมีปัญหาควรที่จะปรึกษาผู้ใหญ

มารยาทในการรับประทานอาหาร









มารยาทในการรับประทานอาหาร
เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเลื่อมใส หรืออาจตำหนี ดังนั้น เราควรฝึกมารยาทในการรับประทานอาหารให้ถูกต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยปฏิบัติให้เป็นนิสัย เพราะนอกจากจะรับประทานอาหารตามปกติในครอบครัวแล้ว เรายังใช้อาหารเป็นสื่อในการพบปะสังสรรค์ ดำเนินงานทางธุรกิจ หรือเข้าสังคมกับผู้อื่น การมีความรู้เกี่ยวกับมารยาทในการรับประทานอาหารตามหลักสากล จะช่วยให้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
๑ มารยาททั่วไปในการรับประทานอาหารตามหลักสากล
  •   ในการรับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น ควรจะปฏิบัติตนดังนี้
  •   ไม่ทำเสียงดังในขณะรับประทาน
  •    อาหารแต่ละคำควรตักให้เล็ก และไม่เลือกเฉพาะอาหารที่ชอบ
  •    ไม่ควรตำหนิรสชาติของอาหาร ควรรับประทานอาหารทุกชนิดที่วางอยู่บนโต๊ะอาหาร
  •    ไม่ควรบังคับให้แขกรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินควร
  •    ควรเลือกเรื่องที่จะนำมาสนทนากับผู้รับประทานอาหารทุกครั้ง ไม่ควรตำหนิหรือว่ากล่าวสมาชิก     ในครอบครัวขณะรับประทานอาหาร
  •   ควรนั่งตัวตรง ไม่นำแขนขึ้นมาวางบนโต๊ะ และไม่ก้มศีรษะลงไปรับประทานอาหารจากจานเข้าปาก
  •  ไม่กระดิกเท้า หรือเคาะโต๊ะเป็นการทำความรำคาญให้แก่ผู้อื่น
  •  ไม่ควรสูบบุหรี่หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง
  •   ถ้ามีอาหารมาเสิร์ฟในชามที่มีฝาปิด ให้เปิดฝาลงไว้ในจาน ถ้าอุปกรณ์ใดที่ใช้ไม่เป็น ให้สังเกตผู้ที่นั่งด้านข้างแล้วทำตามไม่รับประทานอาหารมูมมาม หรือทำอาหารหกเลอะเทอะ
 ๒ มารยาทในการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์
        การรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ เป็นการรับประทานอาหารโดยให้ผู้รับประทานช่วยเหลือตนเอง มีการนำอาหารหลากหลายชนิดมาจัดวางเป็นจุด ๆ เพื่อให้ผู้รับประทานเลือกตักอาหารตามความพอใจ ขณะที่รับประทานอาหารอาจมีการสังสรรค์ เพื่อทำให้ประหยัดเวลาก็ได้
        ในการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ควรปฏิบัติดังนี้
  •   ควรลุกไปตักอาหารเอง  โดยยืนต่อแถวและอย่าให้เป็นภาระของผู้อื่น ไม่หยิบอาหาร ช้อนส้อม หรือตักอาหารแจกผู้อื่น แต่ละคนต้องช่วยเหลือตนเอง
  • ไม่พูดคุยขณะที่ตักอาหาร รีบตักอาหารเพื่อให้ผู้อื่นได้ตักอาหารบ้าง
  • อย่าตักอาหารให้ล้นจาน
  • ตักอาหารเป็นอย่าง ๆ อย่าวางสุมทับกัน ถ้าของเป็นชิ้นควรหยิบเพียงหนึ่งชิ้น จะหยิบเกินกว่าหนึ่งก็ต่อเมื่อผู้อื่นได้ครบแล้ว
  • อาหารที่ตักมาต้องรับประทานให้หมด ถ้าไม่พอสามารถลุกเติมได้
  • เมื่อรับประทานเสร็จต้องเขี่ยเศษอาหารในจาน และรวบช้อนส้อมให้เรียบร้อย
  • กระดาษเช็ดมือไม่ควรใส่ในจานอาหาร  เพราะจะทำให้ปลิว เก็บลำบาก ควรใช้จานวางทับไว้
  •  ถ้ามีการกำหนดให้เอาจานอาหารวางไว้ที่ใด เมื่อรับประทานเสร็จแล้วควรปฏิบัติตาม
  •  อย่าตักอาหารเผื่อผู้อื่น
  •  อาหารหวาน ควรตักเมื่อรับประทานอาคารคาวเสร็จแล้ว
  •  ไม่เบียดหรือแซงผู้อื่น ไม่ยื่นมือไปตักอาหารข้ามมือหรือแขน  ควรคอยจังหวะให้ผู้อื่นตักเสร็จเสียก่อน  แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ชอบก็ตาม 
3.มารยาทในการรับประทานอาหารแบบยุโรป
        โดยทั่วไปการรับประทานอาหารแบบยุโรป มี ๒ แบบ คือ แบบอเมริกัน ซึ่งจะรับประทานอาหารจากส้อมด้วยมือขวา โดยยกปลายส้อมขึ้นข้างบน ใช้ส้อมตักอาหาร และวางมีดไว้ริมจานเมื่อไม่ใช้ส่วนแบบยุโรป จะรับประทานอาหารจากส้อมด้วยมือซ้าย ปลายส้อมคว่ำลง และถือมีดไว้ด้วยมือขวา
        การรับประทานอาหารแบบยุโรป จะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ วางอยู่บนโต๊ะอาหาร ควรหยิบใช้ให้ถูกต้องดังนี้
๑)     การใช้ผ้าเช็ดปาก ควรปฏิบัติดังนี้
      หยิบผ้าเช็ดปากคลี่แล้ววางบนตัก 
   ใช้เพื่อซับอาหารที่ติดปาก ไม่ควรใช้เช็ดลิปสติกออก
    ถ้าผ้าตกระหว่างรับประทานอาหาร ให้พยายามหยิบโดยไม่รบกวนผู้อื่น
    ถ้าไม่จำเป็นต้องลุกออกไปไหนชั่วขณะ  ให้วางไว้ที่เก้าอี้
   ผ้าที่ใช้แล้วไม่ต้องพับ ถ้าเลิกรับประทานให้วางผ้าไว้บนโต๊ะด้านซ้ายมือ
๒)   การใช้ช้อน  ส้อม มีด และแก้วน้ำ ควรปฏิบัติดังนี้
     ใช้ช้อน มีด ด้วยมือขวา ส้อมใช้มือซ้าย
   ใช้ช้อนตักซุปออกจากตัวและรับประทานด้านข้างช้อน
    ไม่ใช้มีดตักหรือจิ้มอาหารเข้าปาก
   แก้วน้ำให้หยิบด้านขวามือ
   ช้อน ส้อม มีด เมื่อเลิกใช้แล้วอย่าวางบนโต๊ะ  ให้วางบนจานรองหรือบนจานอาคารคาวแทน นะจ๊ะ

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ฮีตสิบสอง คองสิบสี่

ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป
ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณได้วางฮีตสิบสองไว้ดังนี้
    เดือนอ้าย - บุญเข้ากรรม บุญเข้ากรรมเป็นกิจกรรมของสงฆ์ เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆทิเสส ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน (อาจเป็นบริเวณวัดก็ได้) โดยมีกุฎิชั่วคราวเป็นหลังๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่งๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกดพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม เรียกว่า สวดอัพภาณ แปลว่า รับกลับเข้าพวก พิธีทำบุญเข้ากรรมไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป แต่เป็นการวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก ส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมนี้คือการหาข้าวขงเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระ เชื่อว่าจะได้บุญมาdกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป



    เดือนยี่ - บุญคูณลาน เป็นการทำบุญเพื่อรับขวัญข้าว เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนที่ 1 คือเดือนมกราคม ของทุกปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะขนเอามัดรวงข้าวที่เกี่ยวเสร็จแล้ว นั้นไปกองรวมกันไว้ที่ลานเก็บข้าวด้วยมีความเชื่อว่าข้าวนั้นเป็นพืชเลี้ยงชีวิตที่มีเทพารักษา เทพองค์นั้นมีนามว่า "แม่โพสพ" ซึ่งเป็นขวัญข้าวที่เลี้ยงมนุษย์มา การทำบุญมีพระสวดมนต์เย็น ฉันเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว และผูกข้อต่อแขนกันในหมู่ชาวบ้านผู้ร่วมพิธี



    เดือนสาม - บุญข้าวจี่ เป็นการทำบุญในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ซึ่งการทำบุญข้าวจี่นี้ชาวบ้านอาจจะไปรวมกันที่วัด หรือต่างคนต่างจัดเตรียมข้าวจี่ไปเองแล้วนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด มีการไหว้พระรับศีลพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และตักบาตรด้วยข้าวจี่ แล้วยกไปถวายพร้อมภัตตาหารอื่นๆเมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร




    เดือนสี่ - บุญพระเวส  หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า "ผะเหวด" มีความหมายอย่างไร คำว่า "ผะเหวด" นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) โดยพระเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี  การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ           และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง




    เดือนห้า -บุญสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ ทำกันในเดือนห้า ปกติมี ๓ วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เหมือนกับภาคกลาง ในวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันต้นคือวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เมษายน คือวันกลางเป็นวันเนา และวันที่ ๑๕ เมษายน คือวันสุดท้ายเป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป ที่สรงน้ำพระพุทธรูปมักเป็นที่จัดไว้ในที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งตามปกติมักใช้ศาลาการเปรียญ แต่บางวัดก็จัดสร้างหอสรงขึ้นแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ เพื่อทำการสรงในวันสงกรานต์ และในวันถัดจากวันสงกรานต์อีกด้วย




    เดือนหก -บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในเดือน ๖ การจัดทำบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง เป็นประเพณีทำบุญขอฝนจากพญาแถนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลบ้าง    คนหรือวัวควายอาจเกิดป่วยเป็นโรคต่างๆ บ้างเป็นต้น และเมื่อทำบุญดังกล่าวแล้ว ก็เชื่อว่าฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์ ประชาชนในหมู่บ้านนั้นจะอยู่เย็นเป็นสุข เพราะมีอาหารข้าวปลาที่บริบูรณ์ทั้งปราศจากโรคภัยด้วย         “ ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนหกแล้วให้นำเอาน้ำวารีสรงโสก ฮดพระพุทธรูปเหนือใต้สู่ภาย อย่าได้ละเบี่ยงบ้ายปัดป่ายหายหยุด มันสิสูญเสียศรีต่ำไปเมือหน้า จงพากันทำแท้แนวคองฮีตเก่า เอาบุญไปเรื่อยๆ    อย่าถอยหน้าหากสิเสีย”
            เดือนหกทำบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน และจะมีงาน บวชนาคพร้อมกันด้วย การทำบุญเดือนหกเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำ    เอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยงโดยไม่คิด มูลค่า เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ การเซิ้งจะกระทำด้วย ความสนุกสนาน    ไม่มีการทะเลาะวิวาท คำเซิ้งและการแสดงประกอบจะออกไปในเรื่องเพศ แต่ก็ไม่ ถือสาหรือคิดเป็นเรื่องหยาบคายแต่อย่างใด (ไปชมประเพณียิ่งใหญ่นี้ได้ที่จังหวัดยโสธร ช่วงต้น เดือนพฤษภาคมของทุกปี)    ส่วนการทำบุญวิสาขบูชานั้น ก็มีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ช่วงเย็น มีการเวียนเทียนเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ
            โดยการเอาขี้เจีย(ดินประสิว) มาประสมคั่วกับถ่าน โขลกให้แหลกเรียกว่าหมื่อ (ดินปืน) เอาหมื่อใส่กระบอกไม้ไผ่อัดให้แน่น แล้วเจาะรูใส่หางเรียกว่าบั้งไฟ การทำบุญมีให้ทาน เป็นต้น เกี่ยวกับการทำบ้องไฟ    เรียกว่า บุญบั้งไฟ กำหนดทำกันในเดือนหก พญาคันคากจึงท้าสู้รบกับพญาแถน หากพญาแถนแพ้ต้องส่งฝนลงมาให้โลกมนุษย์เป็นประจำทุกปี ผลการสู่รบปรากฏว่าพญาแถนแพ้พญาคันคาก เพราะพญาคันคากใช้แผนส่งปลวกขึ้นไปกัดด้ามอาวุธ ส่งมด ตะขาบ ไปซ่อนอยู่ในรองเท้าและเสื้อผ้าที่จะออกรบของพญาแถนและทหาร พญาแถนก็ยอมทำตามสัญญาแต่โดยดีแต่มีข้อแม้ว่าชาวโลกจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปเตือนว่าต้องการฝนเมื่อใด ด้วยเหตุนี้ชาวโลกที่ต้องการน้ำดื่มน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรจึงได้ทำบั้งไฟจุดขึ้นไปขอฝนกับพญาแถนในช่วงก่อนฤดูทำนา คือประมาณเดือนหก ในช่วง เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ด้วยความเชื่อตามเรื่องเล่านี้จึงทำให้ชาวอีสานทำบั้งไฟทุกปีเพื่อเตือนพญาแถน       ก่อนจะถึงวันงานหรือวันเอาบุญ ชาวบ้านก็จะช่วยกันเตรียมงานกันอย่างสามัคคี ฝ่ายแม่ครัวก็เตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงแขกเลี้ยงคน ฝ่ายช่างฟ้อนก็เตรียมขบวนรำไว้สำหรับแห่บั้งไฟ ฝ่ายผู้ชายที่เป็นช่างฝีมือก็ช่วยกันทำบั้งไฟและตกแต่งให้สวยงาม งานบุญบั้งไฟส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีพิธีกรรมทางศาสนาเท่าใดนักแต่บางแห่งก็มีพิธีทำบุญเลี้ยงพระบ้าง

           ในวันโฮม ชาวบ้านก็จะมาตั้งขบวนเพื่อแห่บั้งไฟไปรอบ ๆ หมู่บ้าน เป็นงานบุญที่เน้นความสนุกสนานรื่นเริง ในขบวนจะมีการรำเซิ้งตามบั้งไฟ และบรรดาขี้เหล้าทั้งหลายก็จะร้องเพลงเซิ้งไปของเหล้าตามบ้านต่าง ๆ กาพย์เซิ้งอาจจะหยาบคายแต่ก็ไม่มีใครถือสากัน แต่กาพย์เซิ้งที่ใช้แห่ในขบวนมักจะเป็นประวัติและความเป็นมาของพิธีบุญบั้งไฟ
           ส่วนในวันจุดบั้งไฟก็อาจจะเป็นอีกวันหนึ่งคือเป็นวันที่ชาวบ้านจะเอาบั้งไฟของแต่ละคุ้มแต่ละหมู่บ้านมาจุดแข่งกัน ถ้าของใครทำมาดีจุดขึ้นได้สู่งสุดก็จะชนะแต่ถ้าของใครแตกหรือซุก็ถือว่าแพ้ ต้องโดนลงโทษโดยการจับโยนลงโคลนหรือตมซึ่งเป็นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง



    เดือนเจ็ด - บุญซำฮะ เป็นภาษาอีสานหมายถึง การทำความสะอาด เหมือนกับคำภาษาไทยกลางว่า ชำระ ประเพณีนี้เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไร อันจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ บ้านเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน การทำบุญซำฮะนี้ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เป็นการทำความสะอาดครั้งยิ่งใหญ่ในรอบปี สิ่งที่ไม่ดี ทั้งหลายให้ขจัดออกไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้านมูลเหตุที่มีการทำบุญซำฮะเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาลมีโรคห่า (อหิวาตกโรคระบาดมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาโปรดทำให้เกิดฝนห่าใหญ่มาชำระบ้านเมือง) มีการสวดปัดรังควานและประพรมน้ำมนต์ตามหมู่บ้านและชาวบ้านเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย การจัดงานบุญนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณในการที่จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข


    เดือนแปด - บุญข้าพรรษา หรือบุญเดือนแปด ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปด วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัฒนธสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกวันนี้ว่า วันอาสาฬหบูชา การเข้าพรรษา หมายถึงการที่พระภิกษุอธิษฐานที่จะอยู่ประจำ ณ วัดใด วัดหนึ่งเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น เว้นแต่จะถือสัตตาหะตามพุทธบัญญัติ




    เดือนเก้า - บุญข้าวประดับดิน"บุญห่อข้าวประดับดิน" เป็นบุญที่ทำกันในวันแรม 14 ค่ำเดือนเก้า จึงเรียกกัน อีกอย่างว่า "บุญเดือนเก้า" เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้กับดวงวิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณไร้ญาติทั้งหลาย ก่อนงานบุญ 1 วัน ผู้หญิงจะเตรียมข้าวเหนียว ใส่กล้วยห่อมัดด้วยใบตอง เป็นข้าวต้มมัด สำหรับใส่บาตรในวันรุ่งขึ้น พิธีของบุญห่อข้าวประดับดิน จะเริ่มกันตั้งแต่เช้ามืด โดยผู้คนจะเอากรวยใบตองห่อข้าว ใส่อาหารคาวหวาน ผลไม้ บุหรี่ หมาก พลู ลงไป แล้วนำไปวางตามพื้นดิน ใต้ต้นไม้ รั้วบ้าน รั้ววัด หรือตามทางแยก จึงเป็นที่มาของชื่องานบุญนี้ เพื่อเป็นทาน ให้แก่ภูตผีปิศาจไร้ญาติ ตามความเชื่อที่ว่า วิญญาณที่จะเดินทางกลับภูมิของตนเหล่านี้ จะได้กินอาหารก่อนแสงแดดส่อง พอรุ่งสาง ชาวบ้านก็ตักบาตร อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้บรรพบุรุษเพื่อทดแทนคุณในงานบุญนี้ พระสงฆ์จะได้รับถวายข้าวเหนียว เป็นจำนวนมาก ดังนั้น พระบางรูป จึงนำข้าวเหนียวเหล่านี้ มาปั้นเป็นก้อนตากแดดไว้ เพื่อเป็นทาน ให้แก่คนยากคนจน อิ่มอกอิ่มใจจากงานบุญในช่วงเช้า ช่วงสาย ชาวบ้านร้านตลาด ก็จะมาสนุกสนานกันต่อ กับงานประเพณีแข่งเรือ ที่แม่น้ำคาน อันที่จริงแขวงอื่นๆ ของลาวก็มีประเพณีแข่งเรือเช่นกัน แต่ว่าส่วนใหญ่ จะจัดกันในช่วงเดือนสิบเอ็ด มีเพียงที่หลวงพระบางเท่านั้น ที่จัดในเดือนเก้า ซึ่งถือเป็นการรวมงานประเพณี ถึงสองงานมาไว้ในคราวเดียวกัน ดังนั้นบุญเดือนเก้า ที่นี่จึงยิ่งใหญ่ และคึกคักเป็นพิเศษต่างจากที่อื่นๆบางคนสงสัยว่า ทำไมถึงต้องทำบุญห่อข้าวประดับดิน ในเดือนเก้า ที่จำเพาะต้องเป็นเดือนนี้ เนื่องจาก เป็นช่วงกึ่งกลางฤดูฝนพอดี เป็นช่วงเวลา ที่ข้าวปลาอาหาร อุดมสมบูรณ์ที่สุด น้ำในแม่น้ำลำคลอง ก็เต็มตลิ่ง เกาะแก่งกลางน้ำหายไป เพราะน้ำท่วมมิด ช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์เช่นนี้ ทำให้ลูกหลาน ระลึกถึงพระคุณ ของบรรพบุรุษ และคิดตอบแทนบ้าง ซึ่งในบุญเดือนเก้านี้ถือกันว่า ผีเครือญาติ ที่ยังไม่หมดกรรม จะได้รับการปลดปล่อย ให้กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์อีกครั้ง พร้อมทั้งรับส่วนบุญที่ลูกหลานอุทิศให้มีผู้ให้ความเห็นว่าบุญห่อข้าวประดับดินนี้นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและผีไร้ญาติตามความเชื่อแล้ว ถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิวโซ อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้คนเราส่วนมากมักนึกถึงแต่เรื่องของตนเองเป็นสำคัญ การมีงานบุญงานประเพณี อย่าง บุญห่อข้าวประดับดิน จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราได้นึกถึงผู้อื่นบ้าง จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นวันแห่งการชำระล้างความเห็นแก่ตัวออกไปจากจิตใจด้วยเช่นกัน





    เดือนสิบ - บุญข้าวสาก
    บุญเดือนสิบ หรือ บุญข้าวสาก หมายถึงบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวายและบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า "บุญเดือนสิบ" เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ 9 - 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อยแต่ละห่อประกอบด้วย
            1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว
             2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน
              หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่จะใช้ 10 คู่ เมื่อนำไปเลี้ยง "ผีตาแฮก" ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัดที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  


    เดือนสิบเอ็ด - บุญออกพรรษา หรือ วันปวารณาออกพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือของพระสงฆ์ถรวา โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมปวารณาออกพรรษาในวันนี้ วันออกพรรษาตามปกติ (ออกปุริมพรรษา) จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
    การออกพรรษานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ เรียกว่า "ปวารณา"[1] จัดเป็นญัตติกรรมวาจาสังฆกรรมประเภทหนึ่ง ที่ถูกกำหนดโดยพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อสามารถให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
    เมื่อถึงวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลแก่พระสงฆ์ที่ตั้งใจจำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมมาตลอดจนครบไตรมาสพรรษากาลในวันนี้ และวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยยังนิยมไปทำบุญตักบาตรครั้งใหญ่ เรียกว่า ตักบาตรเทโ หรือ ตักบาตรเทโวโรหนะ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่กล่าวว่า ในวันถัดวันออกพรรษาหนึ่งวัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเทวโลกกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 เพื่อลงมายังเมืองสังกัสสนครพร้อมกับทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหาริย์เปิดโลกทั้งสามด้วย
    นอกจากนี้ ช่วงเวลาออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ถือเป็นเวลากฐินกาลตามพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะเข้าร่วมบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานกฐินประจำปีในวัดต่าง ๆ ด้วย โดยถือว่าเป็นงานบำเพ็ญกุศลที่ได้บุญกุศลมากงานหนึ่ง

    เดือนสิบสอง - บุญกฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าที่ไตรจีวรพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ซึ่งนอกจากในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้ว กฐินยังมีในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วย แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท
    การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการที่การถวายผ้ากฐินนั้น จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย
    ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุุุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน
    กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐินหรือ เทศกาลทอดกฐิน




      คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คอง แปลว่า แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายมุมมองดังนี้
      1. เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง
      2. เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์
      3. เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน
      4. เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณีแต่ละข้อมีคำว่าฮีตนำหน้าด้วย